f
title
แขวงทางหลวงบึงกาฬ
Buengkan Highway District
วิสัยทัศน์ : มุ่งมั่นพัฒนา บูรณะ บำรุงรักษาทางหลวง เพื่อเสริมสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว สนองตอบความต้องการของผู้ใช้ทาง
ความเคลื่อนไหว โครงการ "การก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ -บอลิคำไซ)
ลงวันที่ 29/04/2564
โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว5
*บึงกาฬ-บอลิคำไซถนนเชื่อม/ด่านพรมแดนทะลุเป้า
*ส่วนตัวสะพานติดโควิดช้านิดรอเพื่อนบ้านมาปักเขต
*ยังมั่นใจสร้างเสร็จตามสัญญาเปิดบริการปลายปี66
รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งความคืบหน้าโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) วงเงินก่อสร้าง 3,930 ล้านบาท ที่ร่วมลงทุนโดยรัฐบาลไทย 2,630 ล้านบาท และรัฐบาล สปป.ลาว 1,300 ล้านบาท โดยแบ่งความรับผิดชอบการก่อสร้างจากกึ่งกลางสะพาน โดยฝั่งไทยแบ่งก่อสร้าง 3 ตอน ได้แก่
ตอน 1 งานถนนฝั่งไทย มีที่ตั้งโครงการบน ทล.244 ระหว่าง กม. 0+000-9+400 ระยะทาง 9.400 กม. จ.บึงกาฬ ค่างาน 831,110,000 บาท เริ่มสัญญา 30 มิ.ย.63 สิ้นสุด 16 ธ.ค.65 บริษัทบัญชากิจจำกัดเป็นผู้รับจ้าง ปัจจุบันได้ผลงาน 9.19% จากแผนงาน 8.60% เร็วกว่าแผน 0.59% ผู้รับจ้างกำลังสร้างถนนขนาด 4 ช่องไป-กลับ งานถมคันทาง บดอัดเป็นถนนดินลูกรังก่อนปูผิวจราจรให้แล้วเสร็จตามมาตรฐานการก่อสร้างทางต่อไป จากนั้นตีเส้นแบ่งช่องจราจร ติดตั้งป้ายจราจร ป้ายเตือนต่างๆ รวมทั้งติดตั้งไฟส่องสว่าง ขณะเดียวกันกำลังตอกเสาเข็ม เพื่อวางคานก่อสร้างสะพานข้ามคลองด้วย
ตอน 2 งานถนนฝั่งไทย และด่านพรมแดนฝั่งไทย ที่ตั้งโครงการบน ทล.244 ระหว่าง กม.9+400-12+082.930 ระยะทาง 2.683 กม. จ.บึงกาฬ ค่างาน 883,110,000 บาท เริ่มสัญญา 25 ก.ย.63 สิ้นสุด 13 มี.ค.66 บริษัท เทิดไท แอนด์ โค จำกัดเป็นผู้รับจ้าง ปัจจุบันคืบหน้า 8.27% จากแผนงาน 8.54% ช้ากว่าแผน 0.26% กำลังก่อสร้างถนนเช่นกัน ขณะเดียวกันได้ขนวัสดุลำเลียงเข้าพื้นที่เพื่อสร้างด่านพรมแดนด้วย
และ ตอน 3 งานสะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย (รวมงานปรับปรุงสี่แยก ทล. 212 และลานอเนกประสงค์ใต้สะพาน) ระหว่าง กม.12+082.930-13+032.930 ค่างาน 786,523,850 บาท เริ่มสัญญา 24 พ.ย.63 สิ้นสุด 8 พ.ย.66 บริษัทนภาก่อสร้างจำกัดเป็นผู้รับจ้าง ปัจจุบันคืบหน้า 0.45% จากแผนงาน 1.75% ช้ากว่าแผน 1.30% กำลังสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย โดยวางแนวสะพานในฝั่งไทย เปิดหน้างานไปแล้วในพื้นที่ที่กระทำได้ รวมทั้งก่อสร้างทางลาดสะพาน ลานอเนกประสงค์ใต้สะพาน และงานปรับปรุงสี่แยก ทล. 212 ควบคู่ด้วย
สำหรับตอน 3 มีความล่าช้าเนื่องจากไทย-สปป.ลาว ต้องทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อกำหนดเขตแดนพื้นที่ในการก่อสร้าง ทั้งบนบก และในน้ำของโครงการให้ดำเนินการได้ในพื้นที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น ตลอดจนการขนเครื่องจักร และอุปกรณ์ก่อสร้าง เช่น หิน เหล็ก ปูน และทราย ถ้าขนส่งอุปกรณ์เข้ามาจากฝั่งไหนจะต้องขนอุปกรณ์ออกทางฝั่งนั้นเท่านั้น เช่น ขนเครื่องจักรจากฝั่งไทย จะต้องขนออกจากฝั่งไทยเท่านั้น จะขนออกฝั่งลาวไม่ได้
เพราะจะมีพิธีการด้านภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่ผ่านมารัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายได้ประชุมร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านระบบออนไลน์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยและลาวไม่อนุญาตให้เดินทางข้ามระหว่างประเทศได้
ปัจจุบันโควิด-19 มีการระบาดระลอก 3 ในไทย และ สปป.ลาว พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ทำให้ทั้ง 2 ประเทศยังไม่สามารถประกาศกำหนดเขตแดนพื้นที่ก่อสร้างได้ จึงเกิดอุปสรรคขนส่งวัสดุก่อสร้างลำบากในการข้ามพรมแดนไทย-ลาว ซึ่งช่วงนี้เป็นฤดูแล้ง ตั้งแต่ พ.ย.-พ.ค. ของทุกปี ทำให้น้ำลงมีปริมาณน้ำน้อย เหมาะแก่การทำงานในแม่น้ำโขง
ขณะที่ช่วงเดือน มิ.ย.-ต.ค. ของทุกปี น้ำขึ้นมีปริมาณมากไม่สามารถทำงานในแม่น้ำโขงได้ แต่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ปกติจึงไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนว่าจะประกาศได้เมื่อไหร่ ขณะนี้ผู้รับจ้างทำงานในพื้นที่ที่กระทำได้ก่อน เพื่อให้งานเดินหน้าได้ทั้งนี้จากโควิด-19 รอบ 3 ทำให้ผู้รับจ้างตอน 3 ได้ยื่นขอสงวนสิทธิ์กับ ทล. เพื่อพิจารณาขอขยายระยะเวลาในก่อสร้างตามความเหมาะสมต่อไป
ส่วนผู้รับจ้างตอน 1 และ ตอน 2 ยังดำเนินงานได้ตามแผน ไม่ติดปัญหาจึงไม่ได้ขอยื่นสงวนสิทธิ์ ทั้งนี้อนาคตหากผู้รับจ้างประเมินว่าโควิด-19 รอบ 3 กระทบงานก่อสร้างสามารถยื่นสงวนสิทธิ์ได้ ขณะนี้ถือว่าทั้งโครงการยังดำเนินได้ตามกระบวนการและคาดว่าจะแล้วเสร็จตามสัญญาเพื่อเปิดบริการอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งสินค้า ส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการนี้มีระยะทาง 16.18 กม. แบ่งเป็นถนนฝั่งไทยยาว 13 กม. และถนนฝั่งลาวยาว 3.18 กม. แนวเส้นทางเริ่มต้นที่ฝั่งไทย ช่วงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 222 บนพื้นที่ ต.วิศิษฐ์ ต.ไดสี และ ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ มุ่งไปทางทิศตะวันตกเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3217 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านหนองนาแซง มุ่งหน้าไปยังทิศทางเดิมและตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3013 เลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพรมแดนฝั่งไทย และยกข้ามทางหลวงหมายเลข 212 ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขง 200 เมตร
จากนั้นจะข้ามแม่น้ำโขงผ่านจุดสลับทิศทาง จราจร และด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว สิ้นสุดโครงการบนทางหลวงหมายเลข 13 งานถนนขนาด 4 ช่องไปกลับกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร ในเขตทาง 60 เมตร สะพานข้ามแม่นํ้าโขงเป็นแบบสะพานคานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่อง มีไหล่ทางและทางเท้า ความยาวช่วงข้ามแม่นํ้าโขง 810 เมตร และทางลาดขึ้นลงสะพานทั้งสองฝั่ง รวมความยาวสะพานทั้งหมด 1,350 เมตร มีด่านควบคุม อยู่ทั้ง 2 ฝั่งประเทศ และมีจุดสลับทิศทางจราจรอยู่ในฝั่ง สปป.ลาว

'